โรคมะเร็งเมโสเธลิโอมา (Mesothelioma)Mesothelioma เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดกับเซลล์มีโซทีเลียม (Mesothelium) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย อย่างเยื่อหุ้มปอด ช่องท้อง หน้าอก หัวใจ หรืออัณฑะ โดยเยื่อหุ้มปอดจะเป็นบริเวณที่พบการเกิดมะเร็งได้บ่อยมากกว่าบริเวณอื่น
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักตรวจพบมะเร็ง Mesothelioma เมื่อเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการประคับประคอง หรือควบคุมอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น
อาการของ Mesothelioma
อาการของ Mesothelioma มักจะค่อย ๆ แสดงความผิดปกติออกมาในระยะเวลาหลายปี โดยอาการจะแตกต่างกันตามบริเวณที่เกิดมะเร็ง เช่น
หากเกิดบริเวณเยื่อหุ้มปอด อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก รู้สึกเจ็บขณะไอ หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย มีไข้ขึ้นสูงและเหงื่อออกมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน พบก้อนเนื้อใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือนิ้วปุ้ม (Clubbing Fingers)
หากเกิดบริเวณเยื่อบุช่องท้อง อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง บวมบริเวณท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ ท้องเสียหรือท้องผูก
หากเกิดบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ อาจส่งผลให้หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก
หากเกิดบริเวณเยื่อหุ้มอัณฑะ อาจส่งผลให้ลูกอัณฑะบวม
เนื่องจาก Mesothelioma เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย และอาการต่าง ๆ อาจทับซ้อนกับโรคอื่น ผู้ป่วยจึงอาจเข้าใจว่าอาการต่าง ๆ เป็นผลมาจากโรคอื่น หากพบอาการในข้างต้นอย่างเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน
สาเหตุของ Mesothelioma
มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่แบ่งตัวมากผิดปกติและลุกลามไปยังอวัยวะบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย โดยในกรณี Mesothelioma ความผิดปกติของเซลล์ดังกล่าวจะเกิดกับ Mesothelium ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะภายในบริเวณหน้าอก ช่องท้อง หัวใจ หรืออัณฑะ
ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนที่ส่งผลให้เกิด Mestothelioma แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการสูดดมหรือกลืนแร่ใยหินเป็นระยะเวลานาน หรืออาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น
การอยู่อาศัยร่วมกับผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแร่ใยหิน เนื่องจากเศษแร่ใยหินอาจติดมากับผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้
พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติการเกิดมะเร็ง Mesothelioma อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
ประวัติการใช้รังสีรักษาบริเวณทรวงอก ผู้ที่มีประวัติการรักษาด้วยรังสีบริเวณทรวงอก เช่น การใช้รังสีรักษามะเร็งบริเวณทรวงอก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง Mesothelioma
การวินิจฉัย Mesothelioma
ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติของผู้ป่วยเพื่อหาสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิด Mesothelioma โดยเฉพาะประวัติการเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน รวมถึงตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจของเหลวบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อย่างบริเวณช่องอก ช่องท้อง หรือเยื่อหุ้มหัวใจ
เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้พบได้น้อย ผลการวินิจฉัยในเบื้องต้นจึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ แพทย์จึงจะนำผลการตรวจในขั้นต้นที่ได้เป็นเกณฑ์ในการเลือกวิธีตรวจอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเกิดจาก Mesothelioma ดังนี้
การตรวจเลือด แม้การตรวจเลือดอาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง Mesothelioma แต่โดยส่วนมาก ผู้ป่วยมะเร็งชนิดดังกล่าวมักมีสารบางอย่างในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป
การตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อ (Biopsy) แพทย์จะผ่าตัดหรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์นำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลวบริเวณที่เกิดมะเร็งไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจว่าความผิดปกติของเนื้อเยื่อและเซลล์ของผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับ Mesothelioma หรือไม่ หากแพทย์ตรวจพบมะเร็ง แพทย์จะนำผลการตรวจที่ได้ไปใช้ในการวางแผนการรักษาขั้นต่อไป
การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Tests) แพทย์อาจวินิจฉัยผู้ป่วยโดยการเอกซเรย์ (X–Ray) การทำซีที สแกนหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scans) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI: Magnetic Resonance Imaging) หรือการทำเพทสแกน (PET Scan) นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีดังกล่าวเพื่อตรวจการลุกลามของมะเร็ง หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง Mesothelioma
การรักษา Mesothelioma
ในการรักษา Mesothelioma ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการลุกลามของมะเร็ง และบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เนื่องจากการวินิจฉัยส่วนใหญ่มักพบ Mesothelioma เมื่อมะเร็งได้ลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ และไม่สามารถรักษาได้ โดยวิธีที่แพทย์ใช้ในการรักษาจะพิจารณาจากสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ความรุนแรงของอาการ และตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง ซึ่งแพทย์อาจใช้หลายวิธีในการรักษาร่วมกัน เช่น
การผ่าตัด
ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่ามะเร็งยังไม่ลุกลาม แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดมะเร็ง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว การผ่าตัดอาจทำได้เพียงช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เท่านั้น เนื่องจากแพทย์อาจไม่สามารถกำจัดมะเร็งได้ทั้งหมด โดยวิธีผ่าตัดที่แพทย์มักใช้ในการรักษา เช่น
การผ่าตัดเพื่อระบายของเหลวสะสมในช่องปอด เนื่องจากภาวะของเหลวสะสมในช่องปอดจากมะเร็งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก แพทย์จึงอาจใช้สายยางสอดเข้าไปในร่างกายบริเวณช่วงอกเพื่อระบายของเหลวดังกล่าว หรือในบางกรณีแพทย์อาจฉีดยาบางชนิดเพื่อป้องกันภาวะของเหลวสะสมในปอดซ้ำ (Pleurodesis)
การผ่าตัดนำเยื่อหุ้มปอดบริเวณที่เป็นมะเร็งออก เพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็ง และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย
การผ่าตัดนำเนื้อปอดหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงที่เป็นมะเร็งออก เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย นอกจากนี้การผ่าตัดดังกล่าวยังช่วยให้แพทย์สามารถใช้รังสีรักษาบริเวณปอดได้สะดวกขึ้น
การผ่าตัดเพื่อกำจัดมะเร็งบริเวณช่องท้อง แพทย์จะผ่าตัดเพื่อกำจัดมะเร็งบริเวณช่องท้องให้ได้มากที่สุด และอาจใช้การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เพิ่มเติม
เคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาเพื่อกำจัดหรือควบคุมเซลล์ที่เติบโตหรือแบ่งตัวเยอะผิดปกติในร่างกาย ซึ่งในการรักษา Mesothelioma แพทย์อาจเลือกยาชนิดรับประทานหรือฉีดเพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็งที่ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการผ่าตัด นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งซ้ำ
รังสีรักษา (Radiation Therapy)
แพทย์อาจรักษาโดยการใช้รังสีพลังงานสูง อย่างรังสีเอกซเรย์ หรือโปรตอน เพื่อกำจัดหรือควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์อาจใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งโดยการใช้ยาบางชนิดเพื่อกำจัดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกายโดยเฉพาะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย โดยแพทย์จะเลือกชนิดของยาที่เหมาะสมจากการตรวจลักษณะความผิดปกติของผู้ป่วยทางห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เช่น การให้ยาบรรเทาอาการปวดหากผู้ป่วยมีอาการปวด
ภาวะแทรกซ้อนของ Mesothelioma
ผู้ป่วย Mesothelioma อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดมะเร็ง ในกรณีที่มะเร็งเกิดบริเวณเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยอาจเกิดอาการต่าง ๆ จากการที่ก้อนเนื้อมะเร็งแพร่กระจายและเบียดอวัยวะต่าง ๆ ในช่องอก เช่น หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก กลืนอาหารลำบาก รู้สึกเจ็บจากการกดทับของก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณเส้นประสาทและไขสันหลัง หรือเกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion)
การป้องกัน Mesothelioma
เนื่องจาก Mesothelioma เป็นมะเร็งที่อาจเกี่ยวข้องกับการสูดดมหรือกลืนแร่ใยหินเป็นระยะเวลานาน จึงอาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวให้มากที่สุด แต่หากต้องทำงานหรือประกอบอาชีพที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ อย่างช่างไฟฟ้าหรือช่างประปา ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนการทำงานทุกครั้ง อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนรับประทานอาหารและก่อนกลับบ้าน หรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการป้องกันเพิ่มเติม